
เทรนด์ของโลกเรื่องเมืองสิ่งแวดล้อม ต้นแบบเมืองแห่งสิ่งแวดล้อมโลก ตอนที่ 2: Singapore

สิงคโปร์ ประเทศเล็ก ๆ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวอย่างมาก เพราะพื้นที่เกือบ 1 ใน 3 ของเมืองนั้นถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้ มีสวนสาธารณะมากกว่า 350 แห่ง ซึ่งมากที่สุดในโลก
ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่เพียง 697 ตารางกิโลเมตร แต่นครรัฐสมัยใหม่แห่งนี้กลับเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนต่อจำนวนประชากรมากถึง 66 ตารางเมตรต่อคน และเป็นต้นแบบประเทศที่รักษ์โลกและที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองสีเขียวระดับโลก

แนวคิดพื้นที่สีเขียวในสิงคโปร์เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 สมัยนายกรัฐมนตรีลี กวน ยู ที่มีวิสัยทัศน์ว่าอยากเห็นสิงคโปร์เต็มไปด้วยต้นไม้ใบหญ้า เพื่อที่ประชาชนในประเทศจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จึงได้วางกลยุทธ์และออกแบบผังเมืองให้มีพื้นที่สีเขียวตั้งแต่วันนั้น จนวันนี้กลายเป็นเมืองที่สิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
การพัฒนาพื้นที่สีเขียวของสิงคโปร์มีมาอย่างยาวนานและอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนา โดยใช้แนวคิดและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วยด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบทำความเย็นส่วนกลาง ระบบแสงสว่างอัจฉริยะ ระบบลำเลียงของเสียจากครัวเรือน แอปพลิเคชันตรวจสอบการใช้พลังงานของตัวเอง ฯลฯ สิงคโปร์มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และกำลังผลักดันวาระระดับชาตินี้ให้กลายเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของโลกให้ได้ ในอนาคตอันใกล้นี้

สิงคโปร์ยังส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยานและขนส่งรถไฟฟ้า มีทางสำหรับจักรยานและรถไฟฟ้าอย่างดี ผู้คนสามารถเดินทางข้ามเมืองได้สะดวก ลดการเกิดมลพิษให้น้อยที่สุด มีสวนสาธารณะใจกลางเมืองที่มีทางเดินเชื่อมป่า (Forest Corridor) ทำให้คนได้สัมผัสกับธรรมชาติ มีพื้นที่เกษตรตัดผ่านที่อยู่อาศัย เขต Plantation เป็นพื้นที่สำหรับทำสวน ทำการเกษตรในชุมชน มีการจัดกิจกรรมให้เกษตรกรได้ขายสินค้าออร์แกนิกเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับต้นไม้ในประเทศสิงคโปร์
ถ้าสถาปนิกจะออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องมีพื้นที่สีเขียวเสมอ โดยต้องทำงานร่วมกับรุกขกร (ผู้ที่มีหน้าที่จัดการและดูแลต้นไม้) ซึ่งรุกขกรทุกคนในสิงคโปร์ต้องมีใบรับรอง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าต้นไม้ทุกต้นในประเทศสิงคโปร์จะได้รับการตัดแต่งอย่างถูกวิธี หากในพื้นที่มีต้นไม้อยู่แล้ว ต้องออกแบบอาคารให้หลบหลีกต้นไม้ หรือสร้างสวนบนดาดฟ้า (Roof Garden) สวนแนวตั้ง (Vertical Greenery) ไปจนถึงพื้นที่สีเขียวในอาคาร (Indoor Greenery)

สายไฟทั้งหมดของประเทศสิงคโปร์จะอยู่ใต้ดิน เพื่อไม่ให้ต้นไม้ชนสายไฟ และจะอยู่กลางถนนในส่วนที่รถวิ่ง เพื่อเว้นที่ไว้ให้รากต้นไม้ริมถนน และหากใครเผลอเด็ดใบไม้หรือดอกไม้แค่หนึ่งใบ อาจถูกปรับถึง 2,000 ดอลลาร์ และห้ามเก็บใบไม้ที่หล่นอยู่ตามพื้นด้วย

ล่าสุดสิงคโปร์ได้มีการจัดทำ Singapore Green Plan 2030 ซึ่งเป็นแผนพัฒนาประเทศด้วยความยั่งยืนสอดคล้องไปกับนโยบายขององค์การสหประชาชาติใน The UN’s 2030 Sustainable Development Agenda รวมถึงข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการลดการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ ซึ่ง Singapore Green Plan 2030 มีเป้าหมายสำคัญหลายอย่าง อาทิ สร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 1,300,000 ตารางเมตร ปลูกต้นไม้เพิ่ม 1 ล้านต้น ขยายพื้นที่ปั่นจักรยาน ยกเลิกการจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ผลักดันนโยบายอาคารสีเขียวให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ เน้นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มโครงข่ายรถไฟฟ้า พร้อมส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารภายในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรสิงคโปร์อย่างเพียงพอ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเมืองสีเขียวของสิงคโปร์ เป็นบทบาทสำคัญของภาครัฐบาล ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนาน และจะมีแผนพัฒนาต่อไปในอนาคต ประเทศสิงคโปร์คือตัวอย่างของการบริหารจัดการเมืองสีเขียวที่ดี ที่มองเรื่องระบบนิเวศเป็นหัวใจสำคัญ โดยการสรรค์สร้างสิ่งแวดล้อมให้อยู่แวดล้อมสังคมมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน เป็นต้นแบบเมืองแห่งสิ่งแวดล้อมโลกที่ประเทศอื่น ๆ ควรดูไว้เป็นแบบอย่าง