
Bangkok Music City งานเทศกาลดนตรีของไทยที่เทียบชั้นกับงานเทศกาลระดับโลก

งานเทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่นั้นมีมากมาย และแต่ละงานนั้นก็มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวแตกต่างกันไป และยังเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสนใจเดินทางไปยังประเทศที่จัดงานเทศกาลดนตรีนั้น ๆ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศนั้น ๆ ในแต่ละปีได้อย่างมากมาย ซึ่งประเทศไทยก็มีงานเทศกาลดนตรีให้ผู้คนเลือกเสพมากมายไม่แพ้กัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคืองานเทศกาล Bangkok Music City หรืองานเทศกาลและการประชุมระดับนานาชาติด้านธุรกิจบันเทิงและดนตรี
จุดเด่นของงานนี้คือ เทศกาลดนตรีที่มีกิจกรรมแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ Music Showcase Festival และสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากวิทยากรชื่อดัง ซึ่งนอกจากจะช่วยผลักดันศักยภาพของวงการดนตรีไทยแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงดนตรี (Music Tourism) ทั้งยังสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้ด้วย โดย ‘พาย’ ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี Co-founders & Co-organizers ของงานเทศกาล Bangkok Music City เล่าให้เราฟังว่า ได้ไอเดียของการทำโปรเจ็กต์นี้มาจากงานเทศกาล The South by Southwest (SXSW) นั่นเอง

“งาน SXSW มีทั้งเทศกาลดนตรี เทศกาลหนัง เทคโนโลยี สตาร์ทอัพ เกม ครีเอทีฟ เรียกว่าเป็นเทศกาลของคนสายครีเอทีฟ แท็กไลน์ของงานจะเป็นเรื่องที่ช่วยให้คนในสายครีเอทีฟบรรลุเป้าหมาย มาติดต่องาน สร้างคอนเนคชัน มาโชว์เคสใหม่ ๆ เจอเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของโลกด้านครีเอทีฟ เจอวงดนตรีที่กำลังจะดัง Black Pink เล่นครั้งแรกที่อเมริกาก็งานนี้ จอห์น เมเยอร์ ดังจากงานนี้ มีตำนานเกิดขึ้นจากงานนี้มากมาย”
อธิบายสั้น ๆ The South by Southwest (SXSW) คืองานเทศกาลที่ถือเป็นการรวมตัวของครีเอเตอร์ในด้านต่าง ๆ ทั้งสายภาพยนตร์ ดนตรี และทีมสตาร์ทอัพ โดยมีการโชว์ผลงานด้านสื่ออินเตอร์แอคทีฟ รวมถึงการอัพเดทเทรนด์ต่าง ๆ ที่จัดขึ้นทุกปีที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้เข้ามาร่วมงานปีละกว่าแสนคน เรียกว่าเป็นเทศกาลระดับโลกที่โด่งดังที่สุดเทศกาลหนึ่งก็ว่าได้
“งาน SXSW ไม่ใช่แค่งานดนตรี แต่มีทั้งเทคโนโลยี ภาพยนตร์ เป็นงานที่ใช้เมืองเป็นตัวจัด พวกนิทรรศการ ภาพยนตร์อยู่ในโรงหนังของเมือง งาน Talk อยู่ในคอนเวนชั่นฮอลล์บ้าง ตามบ้านต่าง ๆ ในโรงแรมบ้าง ดนตรีกระจายออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ 200 อเวนิว มีวงมาเล่นประมาณ 2 พันวง” ปิยะพงษ์กล่าวเสริมให้เราเห็นภาพของงาน SXSW ชัดเจนขึ้น


Bangkok Music City จึงมีเป้าหมายเพื่อต้องการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นทั้งเมืองแห่งดนตรี และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเสียงดนตรี นำไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงดนตรีขึ้นมา เหมือนกับเมืองออสติน สหรัฐอเมริกา ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงดนตรีสดของโลก เดินไปตรงไหนก็จะพบวงดนตรีเล่นเพลงกันให้ฟังสด ๆ ทั่วไป
“นักดนตรีบ้านเรามีความสามารถแต่ยังขาดรายได้ เราไปเห็นมาว่าเมืองที่เขาสร้างซีนดนตรีจากที่ไม่มีอะไรอย่างเมืองออสติน สามารถทำขึ้นมาได้อย่างไร โดยที่ ณ ปัจจุบัน เขามีคนมาดูปีละเป็นแสนคน ดึงรายได้เข้าสู่เมืองปีละหลายล้านเหรียญ เพราะฉะนั้นเราก็ว่ามาดู Inventory ของประเทศไทยเทียบกับเขาซิ ซึ่งศิลปินเรามีแล้ว งานแบบนี้เราไม่มี อเวนิวที่จะมีเพื่อทำงานนี้ก็มีทั้งคอนเวนชั่นฮอลล์ โลคัลซีน สิ่งที่ขาดอย่างเดียวคือดึง Buyer เข้ามา แต่เรายังไม่ได้ถูกรู้จักในฐานะเมืองหรือประเทศที่ส่งออกนักดนตรี ฉะนั้นเราจึงต้องเริ่มต้นจากการทำให้คนรู้จักก่อน” เขากล่าวเสริม

Bangkok Music City จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2562 โดยเป็นงานคอนเสิร์ตโชว์เคสจากศิลปินทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเข้าร่วม โดยส่วนใหญ่นั้นจะเป็นศิลปินหน้าใหม่ที่มีผลงานที่เหมาะจะส่งออกไปต่างประเทศ และส่วนที่เป็นงานสัมมนาทางดนตรี โดยมีนักดนตรี บุคลากรต่าง ๆ จากค่ายเพลง มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงโอกาสทางธุรกิจ การส่งออกดนตรี และการท่องเที่ยวเชิงดนตรี ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง Festival Economy ที่จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับเมืองได้อย่างชัดเจน

“ในครั้งแรกนั้น เราจัดกิจกรรมจัดขึ้นตามร้านอาหาร และบาร์ต่าง ๆ ในย่านเจริญกรุง ปีต่อ ๆ มาเนื่องจากสถานการณ์โควิดจึงจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ผ่าน YouTube Live และ Gather Town แอปพลิเคชันที่อยู่ในรูปแบบเกม Simulation สร้างตัวตนเดินเข้าชมคอนเสิร์ตแต่ละเวทีได้จริง เพิ่มประสบการณ์อินเตอร์แอ็กทีฟ ให้ได้รู้สึกเหมือนอยู่ในคอนเสิร์ตจริง ๆ ซึ่งเราต้องการให้งานเทศกาลนี้ยั่งยืน เราได้เงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐบาล เราอยากให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากกว่านี้ ผลสำเร็จที่คาดหวังคือให้เราอยู่ได้ และเราช่วยให้เกิดการพัฒนาและเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมดนตรีไทย ให้ไปสู่เวทีนานาชาติได้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ”
สิ่งที่ปิยะพงษ์เล่านั้น แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของงาน Bangkok Music City ที่ได้เสียงตอบรับกลับมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะในงานครั้งแรกที่มีศิลปินที่ต่อมามีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง Tyra มาเปิดการแสดงครั้งแรกที่งานนี้ นั่นคือสิ่งที่ยืนยันว่า งานเทศกาลนี้สามารถเป็นแพลตฟอร์มที่จะทำให้คนในวงการดนตรีสามารถมาค้นพบศิลปินคุณภาพที่กำลังจะเฉิดฉายได้ ดังนั้น Bangkok Music City จึงถือเป็น City Festival ที่มีมากกว่าดนตรี และจะเป็นเทศกาลที่สามารถต่อยอดไปสู่ระดับโลกได้แน่นอน
